จากภาพรอยร้าวลำดับแรก ที่พบในเสา คือ รอยร้าวที่เกิดขึ้นเฉียง บริเวณหัวเสา จะพบได้ในกรณีที่มีแผ่นดินไหวซึ่งเป็นรอยร้าวที่พบได้น้อยในประเทศไทย ซึ่งรอยร้าวเกิดจากแรงทั้งในแนวดิ่งและแรงด้านข้างมากระทำต่อเสา รอยร้าวแบบนี้อันตรายและไม่สามารถใช้งานโครงสร้างนั้นได้ จนกว่าจะได้รับการแก้ไข
รอยร้าวลำดับที่ 2 คือ รอยร้าว ที่แตกตามแนวนอน เกิดด้านเดียว ของเสา รอยร้าวแบบนี้เกิดจากการที่เสาโดนแรงดัด ซึ่งโดยมากเกิดจากการที่ฐานรากของเสาด้านที่อยู่ตรงข้ามกับรอยร้าวนั้น มีการทรุดตัว ดังนั้น การแก้ไขรอยร้าวแบบนี้แก้ไขที่เสาอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องไปดูฐานรากที่เสาด้านตรงข้ามของมันด้วยว่ามีการทรุดตัวหรือเปล่า เพราะถ้าไม่แก้ไขการทรุดตัวของฐานราก ก็จะแก้รอยร้าวไม่หาย
รอยร้าวลำดับที่ 3 คือรอยร้าว แบบปูนแตกลายงา รอยร้าวแบบนี้อาจเกิดจากการยืดหดตัวของคอนกรีต ทำให้เกิดรอยแตกร้าวที่ผิว แต่ปล่อยรอยร้าวไว้ก็ไม่ดี เพราะว่าอากาศและความชื้นจะเข้าภายในได้ ทำให้เหล็กเสริมที่อยู่ภายในเป็นสนิม ดังนั้นควรปิดรอยร้าว ด้วยวัสดุประเภท Acrylic หรือ Polyurethane เพื่อให้รอยที่ปิดมีความยืดหยุ่นพอควร หรือจะเลือกใช้วัสดุประเภท epoxy ก็ได้ แต่ไม่เหมาะกับรอยร้าวเล็กๆ และถ้าต้องทาสีทับจะทาสีไม่ติด
รอยร้าวลำดับสุดท้าย คือรอยร้าว แบบเป็นรอยร้าว ตรงๆ ลงมาที่ขอบของเสา รอยร้าวแบบนี้ มักพบทั้งหัวเสา และโคนเสา ซึ่งอาจร้าวจนคอนกรีตกระเทาะออกมา เมื่อเอาคอนกรีตออกมาแล้วดูเหล็กเสริมข้างใน ก็จะเห็นว่า เหล็กนั้นเป็นสนิม รอยร้าวแบบนี้ ต้องแก้ไขโดยขัดสนิมเหล็กออกก่อน แล้วทาเหล็กด้วยวัสดุกันสนิม แล้วจึงปิดรอยแตกด้วย mortar บางครั้งถ้าเหล็กเสริมเสียหายมาก อาจต้องมีการนำเหล็กเสริมใหม่เข้าไปติดตั้งแทน หรือถ้าเสียหายมากกว่านั้น อาจเสริมกำลังเสาโดยใช้วัสดุหุ้มที่ด้านนอกเสาอีกที
ขอบคุณที่มา : http://changmuns.blogspot.com