ห้องน้ำเป็นพื้นที่ที่เราใช้งานเป็นประจำ การออกแบบห้องน้ำที่ดีนอกจากจะคำนึงถึงความสวยงามแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้งาน การเลือกวัสดุให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย และลดปัญหาในระยะยาวด้วย การออกแบบห้องน้ำที่ดีมีดังนี้
1. แยกส่วนแห้งส่วนเปียก
เราควรแยกส่วนแห้งและส่วนเปียกออกจากกัน ส่วนแห้งคือบริเวณที่ไม่ได้ใช้อาบน้ำ ส่วนเปียกคือบริเวณที่ใช้อาบน้ำ ซึ่งควรแยกพื้นที่เหล่านี้ออกจากกัน เพื่อความสะดวกในการใช้งานและการดูแลรักษาได้ง่าย
2. เรียงลำดับการใช้งาน
อ่างล้างมือใช้บ่อยควรอยู่ใกล้ประตู ส่วนอาบน้ำที่ใช้น้อยที่สุดควรจะอยู่ด้านในและแบ่งพื้นที่เหล่านี้แยกจากกัน
3. การเลือกวัสดุในห้องน้ำ
3.1 การเลือกกระเบื้องพื้น เนื่องจากห้องน้ำเป็นพื้นที่เปียกชื้น การใช้กระเบื้องควรเป็นกระเบื้องกันลื่นเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ในขณะเดียวกันผิวของพื้นกระเบื้องก็ไม่ควรหยาบเกินไปเพื่อความสะดวกในการทำความสะอาด ดังนั้นเราจึงควรเลือกกระเบื้องที่มีค่ากันลื่นให้เหมาะสม มีค่ามาตรฐานที่กำกับไว้ คือค่า R. หรือค่าต้านทานการลื่น-Slip Resistance โดยพื้นห้องน้ำควรเลือกกระเบื้องที่มีค่า R ตั้งแต่ 10 ขึ้นไป
R9 สำหรับปูกระเบื้องทั่วไปภายในบ้าน
R10 สำหรับปูพื้นห้องน้ำส่วนแห้ง ห้องครัว และบริเวณห้องอาหาร
R11 สำหรับปูพื้นห้องน้ำส่วนเปียก ปูพื้นนอกบ้าน ที่จอดรถ ลานซักล้าง ทางเดินภายนอกอาคาร พื้นที่รอบสระว่ายน้ำ
3.2 การเลือกวัสดุผนัง ส่วนใหญ่ไม่ได้มีข้อควรระวังมากนัก ควรเน้นเป็นกระเบื้องผิวที่สามารถเช็ดทำความสะอากได้ง่าย หรือ อาจใช้ผนังปูนฉาบเรียบทาสี ผนังขัดมัน หรือไม้ฝาก็ได้ แต่ไม่ควรนำกระเบื้องที่ใช้สำหรับผนังมาปูพื้น เพราะผิวสัมผัสและความแข็งแรงต่างกัน
3.3 การเลือกวัสดุฝ้าเพดานในห้องน้ำ ฝ้าเพดาน ควรจะเป็นวัสดุที่ทนความชื้น ถ้าจะใช้เป็นฝ้ายิบซั่มก็ต้องเลือกฝ้ายิบซั่มแบบกันชื้น
3.4 พื้นโครงสร้างในห้องน้ำควรเป็นพื้นหล่อในที่ ไม่ควรใช้พื้นสำเร็จรูปเพื่อลดปัญหาการรั่วซึม
4. เลือกตำแหน่งห้องน้ำที่เหมาะสม
ห้องน้ำควรโดนแดด ในการออกแบบบ้าน ถ้าเป็นไปได้ควรจัดเรียงห้องน้ำไว้ทิศตะวันตก เพื่อให้รับแสงแดดและความร้อนทำให้ห้องน้ำแห้งและไม่เปียกชื้น ดังนั้นตำแหน่งที่ดีจะมีอากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดส่องถึง
5. คำนึงถึงการติดตั้งสุขภัณฑ์
หลายครั้ง เรามักจะพบปัญหาการใช้งานที่มาจากการติดตั้งไม่ได้มาตรฐานอยู่เสมอ เช่น อ่างล้างหน้าติดสูงเกินไป(มาตรฐานคนไทยคือ 80-85 ซม.จากพื้น)
ควรจะมีวาล์วเปิดปิดน้ำในแต่ละตัวสุขภัณฑ์ หรืออย่างน้อยสุดก็มีวาล์ว 1 ตัว/ห้องน้ำ ในกรณีที่สุขภัณฑ์มีปัญหา เราสามารถปิดน้ำเพื่อซ่อมแซมได้
6. ปลั๊กไฟ
ในห้องน้ำหากจำเป็นต้องมีปลั๊กก็ควรเป็นปลั๊กที่สามารถกันนน้ำได้ หรือมีหน้ากากเปิดปิด และควรมีการติดตั้งในระดับที่สูงและห่างไกลจากน้ำ อาจติดตั้งอุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆเพื่อความปลอดภัยด้วย
7. ควรมีช่องเปิดระบายอากาศ
เพื่อให้เกิดการถ่ายเทอากาศภายในได้ดีและไม่อับชื้น ควรมีหน้าต่างที่สามารถเปิดปิดได้เพื่อให้มีลมเข้ามา ระบายกลิ่นต่างๆได้ดี หากในพื้นที่ไม่สามารถทำช่องเปิดได้ก็ควรใช้พัดลมดูดอากาศเพื่อให้อากาศใหลเวียนภายในห้องน้ำได้